เครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคหนุน”ศักดิ์สยาม”ค้านต่อสัมปทาน”สายสีเขียว”เสนอคิดค่าโดยสาร10% ของรายได้ขั้นต่ำ

0 Comments

ผู้แทนเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกทม.เข้าพบ”ศักดิ์สยาม”ขอบคุณที่คัดค้านขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมเสนอ 6 แนวทางคิดค่าบริการระบบขนส่งในอัตรา 10% ของรายได้ขั้นต่ำ แก้ปัญหาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม ค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และทำระบบตั๋วร่วม

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ผู้แทนเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานครเข้าพบ เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจกรณีกระทรวงคมนาคมคัดค้านขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วม ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นางสำลี สีละพุก ได้นำผู้แทนเครือข่ายศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานครเข้าพบ เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจ พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอ 6 แนวทางต่อกระทรวงคมนาคม คือ 1. ขอสนับสนุนกระทรวงฯ ให้ชะลอการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขึ้นราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

2. ขอให้กระทรวงฯ ร่วมแสดงจุดยืนและเป็นพลังร่วมกับประชาชนในการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าและกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

3. ขอให้กระทรวงฯ สนับสนุนการกำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ

4. ขอให้ประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้อย่างทั่วถึง 5. ขอให้สนับสนุนการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนของระบบรถไฟฟ้า และจัดระบบตั๋วร่วม

6. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องราคาต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีจุดยืนในการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยึดหลักความถูกต้อง และประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนพึงจะได้รับเป็นลำดับแรก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความเห็นของกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับอัตราค่าโดยสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืนจากปัจจุบันไปสู่อนาคตถึงปี 2602 รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขของการเข้าระบบตั๋วร่วมที่ครอบคลุมทุกโครงข่าย และความถูกต้องครบถ้วนของขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ และจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้นจากอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรุงเทพมหานครจะพิจารณาทบทวนการดำเนินการให้ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นที่ประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนและภาครัฐพึงได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business