เงินเฟ้อ ความกังวลใหม่ของไทย ?

0 Comments

คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย
ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ทยอยฟื้นตัวหลังผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักและหดตัวลง เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยที่ธนาคารกลางหลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องมือทางนโยบายการเงินเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2022 อยู่ที่ 3.23% ทำให้ตลาดเริ่มตั้งคำถามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจัดการเงินเฟ้อที่เกินจากกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1-3% รวมถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ท่ามกลางแนวคิดหลักทฤษฎีที่ว่า

“เงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย”

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากน้ำมันถึง 2.25% อาหารสด 0.63% และเงินเฟ้อพื้นฐานเพียง 0.35% ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่าเงินเฟ้อไทยในครั้งนี้เกิดจากภาคอุปทานเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากภาคอุปสงค์ หรือปริมาณเงินที่มากเกินไป ด้วยทุกทฤษฎีมีข้อยกเว้น

ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจไม่ใช่เครื่องมือหลักในการจัดการกับเงินเฟ้อภาคอุปทานที่เกิดจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นนี้ ในขณะที่ราคาอาหารสด เช่น ราคาเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

ในบริบทปัจจุบันของประเทศไทย เศรษฐกิจไทยในปี 2021 ขยายตัว 1.6% จากที่หดตัวอย่างรุนแรง 6.1% ในปีก่อนหน้า สะท้อนว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว และไม่ได้กลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด

ในสภาวะเช่นนี้ การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจทำให้เส้นทางการเติบโตต้องเปลี่ยนแปลงชะลอลงไปจากเดิม และสร้างความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะขัดกับเป้าหมายสูงสุดของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตลาดดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ “เครื่องมือ” มากกว่า “เป้าหมาย” กล่าวคือให้ความสนใจกับเงินเฟ้อมากกว่าเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนคือการให้น้ำหนักกับปัจจัยต่าง ๆ อย่างสมเหตุสมผล และหากพิจารณาถึงอนาคต ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อจริงหรือไม่ ?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อเฉลี่ยระยะ 5 ปีของไทยลดต่ำลงเรื่อย ๆ โดยในช่วงปี 2017-2021 เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.57% ลดลงจากช่วงปี 2012-2016 ที่ 1.28% และช่วงปี 2007-2011 ที่ 2.79% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเงินเฟ้อ ท่ามกลางราคาสินค้าหลายประเภทที่ถูกกำหนดราคาแทรกแซงจากภาครัฐ และจำนวนประชากรมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังเช่นญี่ปุ่น

ด้วยอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงทุกขณะ และจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มแตะระดับ 20% ของประชากรรวมในปีนี้ ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยเข้าเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุตามหลักองค์การอนามัยโลก ส่งผลให้กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ

ดังนั้น ปัญหาในอนาคตที่ไทยอาจต้องเผชิญคือ “ภาวะเงินฝืด” เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รับมือยากกว่าเงินเฟ้อมากมายนัก

.อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance