ทองคำสินทรัพย์ปลอดภัย สงคราม-โควิด-เงินเฟ้อดันยิลด์เกือบ8%

0 Comments

กูรูชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ดันราคาทองคำพุ่ง ยันราคาทองคำพื้นฐาน 1,800-1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ แนะทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ก็น่าจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยถูกลงได้ เหตุทองคำยังสำคัญในช่วงวิกฤต

ทองคำ (gold) ธาตุเคมีหมายเลขอะตอม 79 มีสัญลักษณ์คือ Au (มาจากภาษาละตินว่า aurum) จัดอยู่ในกลุ่มธาตุโลหะมีสกุลชนิดหนึ่ง ทองคำใช้เป็นทุนสำรองทางการเงินของหลายประเทศ ใช้ประโยชน์เป็นเครื่องประดับ งานทันตกรรม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (วิกีพีเดีย)

 

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหรือสงครามนักลงทุนมักเพิ่มความสนใจในการลงทุนทองคำ
ล่าสุดกับการโจมตียูเครนของรัสเซียช่วงแรกราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในทันที อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านมา 1-2 วันความผันผวนกลับชัดเจนกว่า โดยสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (25 ก.พ.65) หลุดจากระดับ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังคลายกังวลเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน ขณะที่ราคาทองคำในตลาดเอเชียทะยานขึ้นอีกครั้งเหนือ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังสถานการณ์สงครามในยูเครนตึงเครียดขึ้น จากประธานาธิบดีวราดีเมียร์ ปูติน สั่งกองรบนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมปฏิบัติหน้าที่

ส่วนราคาทองคำในประเทศประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จากประกาศของสมาคมผู้ค้าทองคำ ทองคำแท่ง 96.5% ขายออก29,550.00 บาท รับซื้อที่ 29,450.00 บาท ทองรูปพรรณ 96.5%ขายออก 30,050.00 บาท รับซื้อ 28,925.28 บาท

ทั้งนี้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้น 1,850 บาท ปี2563 ปรับเพิ่มขึ้น 5,300 บาท ปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 1,800 บาท และในปี 2564 ราคาทองคำแท่งในช่วงเดือนมกราคมรับซื้อที่ 26,459 ขายออกที่ 26,559 บาท และราคาทองคำเฉลี่ยในต่างประเทศอยู่ที่ 1,868.85 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.02 บาท/ดอลลาร์ และในเดือนธันวาคม ราคาทองคำแท่งรับซื้อที่ 28,394.44 บาท ขายออกที่ 28,494.44 บาท และราคาทองคำเฉลี่ยในต่างประเทศอยู่ที่ 1,792.17 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.58 บาท/ดอลลา

ทั้งหมดพอจะยืนยันได้ว่าวิกฤตโรคระบาดและสงครามสัมพันธ์กับทองคำอย่างไร ซึ่งกองทุนทองคำเองก็มีผลตอบแทนดีขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน

5 อันดับผลการดำเนินงานกองทุนทองคำปี65

สำหรับ 5 อันดับผลการดำเนินงานกองทุนทองคำ ใน 65 พบว่า กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (I-GOLDRMF) ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 7.67% ย้อนหลัง 1ปี 7.26% ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 11.64% รองลงมาเป็นกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โกลด์ ฟันด์ ( I-GOLD) ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 7.65% ย้อนหลัง 1 ปี 6.94% และย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 11.04%

 

ตามด้วยกองทุนเปิดเค โกลด์-A ชนิดสะสมมูลค่า (K-GOLD-A(A)) ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 5.86% ย้อนหลัง 1ปี 6.35% กองทุนเปิดเค โกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KGDRMF) ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 5.86% ย้อนหลัง 1ปี 6.35% ย้อนหลัง 3 ปี 11.41% และกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลด์ อินคัม ชนิดผู้ลงทุนพิเศษ (PRINCIPAL iGOLD-X) ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 5.79% ย้อนหลัง 1ปี 6.22%

 

คำถามต่อจากนี้คือ ควรเข้าลงทุนในจังหวะไหนยิ่งช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้นมาระดับนี้แล้ว ถ้าผวาสงครามหรืออยากเก็งกำไรก็มีโอกาสทั้ง 2 ขาพอๆกันคือ 1.ติดดอย 2.กำไร

ราคาทองคำพื้นฐาน 1,800-1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกถึงแนวโน้มราคาทองคำว่า เชื่อว่า ตอนนี้นักลงทุนคงจะมีความกังวลกับการโจมตีของรัสเซีย และยังต้องประเมินสถานการณ์กันอยู่ แต่เชื่อว่าต่อจากนี้อีก 3-4 เดือนสถานการณ์นี้มีโอกาสจะคลี่คลายลงได้

ปัจจุบันความขัดแย้งลักษณะนี้เหมือนเป็น Information War ที่ทุกคนมีโอกาสโกหกหมด ฉะนั้นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือ ทุกประเทศที่มีส่วนร่วมจะโดนดาวน์เกรดลง นักลงทุนจะไม่อยากเสี่ยงกับสกุลเงินไหนโดยตรง ส่งผลให้สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างน้ำมัน ทองคำ จะได้รับความสนใจมากขึ้น และราคาทองคำมีโอกาสไปได้ต่อ

 

ทั้งนี้ ราคาทองคำที่ขึ้นมาต่อเนื่องในรอบนี้มาจากเหตุผล 2 อย่าง

โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯลดลง เนื่องจากความกังวลด้านความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน
ทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และมีโอกาสที่นักลงทุนจะสะสมเพิ่มในช่วงที่ความไม่แน่นอนสูง

โดยระยะสั้นราคาทองคำจะมีการปรับตัวตามสถานการณ์ แต่ถ้าจะถามว่าแพงไปหรือยังต้องพิจารณาในมุมของแนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาว ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ถ้าประเมินเงินเฟ้อจากแนวโน้มของความขัดแย้งจบลงด้วยการคว่ำบาตร และไม่ได้มีสงครามรุนแรงขยายวงกว้างเพิ่มเติม เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกหลายปีต่อจากนี้

 

“ราคาทองคำถ้ามองในมุมพื้นฐานราคาน่าจะอยู่ที่ระดับ 1,650 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ปัจจุบันมันรับทุกข่าวไปแล้วจึงปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 2000 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ แต่ในระยะถัดไปราคาพื้นฐานจริงๆ ก็อาจขยับมาเป็น 1,800 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์หรือจบปีที่ 1,900 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ได้ในช่วงปีหน้า”จิติพลระบุ

 

ราคาทองคำดาวน์ไซด์จำกัด
จิติพล บอกอีกว่า เชื่อว่าโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับลดลงเป็นไปได้น้อยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือถ้ามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญก็อาจปรับตัวขึ้นได้อีกเล็กน้อย แต่ถ้าจูบปากกันจริงๆ มองว่า น่าจะลงไปที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ได้ แต่จะหลุดไป 1,600 หรือ 1,500 คงยากเพราะทุกคนคิดแล้วว่าเงินเฟ้อจะค่อนข้างยาวต่อจากนี้

 

ทองคำเป็นครึ่งหลังต่อจากน้ำมันที่มักจะปรับตัวขึ้นก่อนในช่วงเงินเฟ้อมาแรกๆ แต่พอปีที่ 2-3 แล้ว ทองคำจะมีอัพไซด์ขึ้นมาตามเงินเฟ้อที่ขึ้นต่อปี เลยทำให้ดูมีโอกาสหน่อย แต่ถ้าจะมีทางเลือกอื่นขึ้นมาในช่วงเงินเฟ้อก็อาจมีสกุลเงินอื่นที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยได้แทนเช่น หยวน หรือ เยน เป็นต้น แต่เชื่อว่า ทองคำจะดูดีกว่าเล็กน้อยในระยะยาว

 

นอกจากนี้ รายงานจากศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จากระดับ 69.95 จุด มาอยู่ที่ระดับ 70.14 จุด เพิ่มขึ้น 0.19 จุด หรือคิดเป็น 0.26% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาน้ำมัน แรงซื้อเก็งกำไร และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ

 

คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2565 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 308 ตัวอย่าง พบว่า 50% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 27% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำ หรือไม่ และอีก 23% ยังไม่ซื้อทองคำ

 

ส่วนราคาทองคำในเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,765 – 1,861 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 27,900 – 29,000 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.73 – 33.67 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ทั้งหมดน่าจะเป็นข้อมูลให้แก่นักลงทุนพอนำไปพิจารณาได้บ้างว่าจะทยอยลงทุนช่วงไหน เพราะถ้าดูเงินเฟ้อระยะยาวราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นเช่นกัน แต่ถ้ากรอบการปรับขึ้นจากราคาปัจจุบันก็เหมือนว่าอัพไซด์ไม่สูงมากนัก ส่วนดาวน์ไซด์ที่แม้จะมีจำกัดและอาจมีโอกาสน้อยที่จะหลุด 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ก็ดูเหมือนว่ายังมีช่องว่างที่กว้างเอาเรื่องอยู่กับราคาที่ปรับขึ้นไปจากข่าวสงคราม

 

“ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มลงทุนทองคำก็อยากแนะนำให้ใช้วิธีการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ก็น่าจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยถูกลงได้ เพราะอย่างน้อยทองคำก็พิสูจน์แล้วว่าสำคัญพอในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา”

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market